เมื่อ ครม. ได้มีมติเห็นชอบ มาตรการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติคในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และภาคเอกชนต่างตอบรับโดยปักหมุดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของแนวทางปฏิบัติดังกล่าว

วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมาจึงไม่เพียงแค่เป็นวันขึ้นปีใหม่สากล แต่ยังถือเป็นวันประกาศสงครามกับถุงพลาสติคอีกด้วยถุงพลาสติดหรือที่หลายท่านมักเรียนขานว่า “ถุงก๊อบแก๊บ” เริ่มแทรกซึมเข้ามาในสังคมไทย โดยเข้ามาแทนที่ถุงกระดาษ เมื่อราวสามสิบกว่าปีก่อน
ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแรง และมีน้ำหนักเบา อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ซ้ำได้ จึงทำให้ถุงพลาสติคค่อยๆแทนที่ถุงกระดาษ และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการจับจ่ายซื้อของสำหรับคนไทยในยุคนี้

เนื่องจากถุงพลาสติคเป็นของแจกฟรีมาพร้อมสินค้า เมื่อถุงนั้นหมดหน้าที่ลงไป ผู้คนจึงไม่เสียดายที่จะเก็บถุงนั้นไว้ และโยนทิ้งกลายเป็นขยะ แม้ว่าขยะจะไร้ค่าในสายตาเรา แต่การกำจัดสิ่งไร้ค่า กลับมีต้นทุนต่อส่วนรวมสูงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะมองเห็น

เชื่อว่า ณ วันนี้ ผู้อ่านคงเคยเห็นผ่านตา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูลปริมาณขยะในโลกของเรา หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตร่วมโลก ซึ่งเมื่อประเมินมูลค่าของผลกระทบนั้นออกมาเป็นตัวเงินแล้ว จะพบว่ามีมูลค่าสูงกว่ารายได้มวลรวมของบางประเทศเสียอีก

สมควรด้วยประการทั้งปวงที่ภาครัฐและเอกชนจะร่วมมือกัน รณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติคพ่อบ้านแม่บ้าน พ.ศ.นี้ จึงต้องพกพาถุงผ้าไปด้วย ทุกครั้งที่ออกจากบ้านไปจับจ่ายซื้อของร้านค้าบางแห่งจัดเตรียมกล่องกระดาษไว้ให้กับลูกค้าเพื่อทดแทนถุงพลาสติค
แต่เดี๋ยวก่อน ..
ถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อปี คศ. 1959 ( พ.ศ. 2502) ที่วิศวกรชาวสวีเดนได้คิดค้นถุงพลาสติคขึ้น มูลเหตุจูงใจของการผลิตถุงพลาสติคนั้น คือความห่วงใยว่าสังคมจะทำลายป่าไม้จนหมด เพราะต้นไม้จำนวนมากต้องถูกโค่นเพื่อนำมาผลิตถุงกระดาษ ซึ่งผู้คนมักใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งถุงไปเป็นขยะ
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการขยะที่ยั่งยืน ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถุงกระดาษหรือถุงผ้าฝ้าย มีต้นทุนการผลิตและกระบวนการผลิตที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าถุงพลาสติคอีกด้วย
