5 เหตุผลการดูนกช่วยพัฒนาสังคมไทย
กิจกรรมการดูนก (birding, bird watching)เป็นกิจกรรมสันทนาการอย่างหนึ่งที่มีคุณประโยชน์น่าส่งเสริม นอกจากจะให้ความเพลิดเพลินใจต่อผู้ร่วมกิจกรรมแล้วยังก่อผลดีมากมายต่อการพัฒนาประเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า การดูแลห่วงใยสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้จากสังคมเมืองสู่ชนบท นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการออกกำลังดูแลสุขภาพที่ดี ต่อไปนี้ืคือคุณประโยชน์ 5 ประการของการส่งเสริมกิจกรรมดูนกในสังคมไทย
ประการแรกการดูนกส่งเสริมให้ผู้คนให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า

กิจกรรมนี้ช่วยให้นักดูนกเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ของสิ่งมีชีวิต นกแต่ละชนิดที่พวกเขาเฝ้ามองติดตามนั้นเป็นตัวแทนของระบบนิเวศน์ย่อยเฉพาะที่มีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น “นกกินปลีหางยาวเขียว (Green-tailed Sunbird: Aethopyga nipalensis)” เป็นนกประจำถิ่นในประเทศไทยชนิดหนึ่ง มีถิ่นอาศัยในป่าดิบในเทือกเขาที่มีความสูงตั้งแต่ 1,500 ถึง 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล นกชนิดนี้ย่อมมีความเปราะบางในถิ่นอาศัยที่จำกัด หากพื้นที่ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปก็จะส่งผลให้นกชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย ความผูกพันธุ์ของนกกับถิ่นอาศัยดังกล่าวนี้ืคือสิ่งที่มีคุณค่าที่นักดูนกได้เรียนรู้ เปรียบเหมือนการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Education) ที่เรียบง่ายประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่าย

ประการที่สองการศึกษาธรรมชาติอย่างนี้ช่วยส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ชนบท ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับต้นของโลกที่ประชากรในเมืองและชนบทมีช่องว่างรายได้ห่างกันเป็นอย่างมาก การส่งเสริมกิจกรรมการดูนกเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชนบท ด้วยเหตุที่พื้นที่เหมาะสมต่อกิจกรรมดูนกส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคที่เป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์มักเป็นที่นิยมของนักดูนก เพราะโอกาสที่จะพบเห็นนกหายากนั้นมีสูงมากกว่าอยู่ในเขตเมือง การออกไปดูนกจึงช่วกระตุ้นให้คนในชนบทมีรายได้จากการขายสินค้า อาหาร และห้องพักแก่นักดูนก

ประการที่สามประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาสังคม เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้นิยมการดูนกมักมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดูนกจากแหล่งต่างๆต่อนักดูนกคนอื่นๆ การติดต่อแลกเปลี่ยนกันนี้ส่งเสริมการสร้างประชาสังคม (Civil Society) ที่ผู้คนจากหลากหลายอาชีพ เพศ และวัยมีปฏิสัมพนธ์กันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับการดูนก เฉพาะในประเทศไทยตอนนี้มีสมาคมดูนกต่าง
ประการที่สี่กิจกรรมดูนกส่งเสริมให้สุขภาพดี พื้นที่ดูนกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่กว้าง เช่น สวนสาธารณะ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การดูนกต้องเดินด้วยเท้าโดยเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าวันละ5กิโลเมตร เป็นการเดินออกกำลังกายแบบเบาๆที่ให้ความเพลิดเพลินใจไปในตัว นอกจากนี้ผู้ดูนกจำเป็นบำรุงและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะการดูนกเป็นกิจกรรมที่ใช้ชีวิตในป่าเป็นส่วนใหญ่ หากร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ก็จะส่งผลให้ทำกิจกรรมชนิดนี้ได้อย่างไม่สมบูรณ์เต็มที่ ดังนั้นการดูนกจึงเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนสนใจและใส่ใจต่อสุขภาพ
ประการสุดท้ายที่มีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประโยชน์ด้านอื่นๆคือกิจกรรมนันทนาการนี้ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักดูนกต้องเข้าใจพื้นฐานความรู้ด้านนิเวศวิทยาของนกแต่ละชนิด อนุกรมวิธานของสิ่งมีชีวิต พฤติกรรมของนกแต่ละชนิด ความรู้พื้นฐานนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้คนโดยเฉพาะเยาวชนเข้าใจหลักวิชาชีวะวิทยา นอกจากนี้นักดูนกที่ดีต้องจดบันทึกชนิด พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่อาศัยของนกในขณะที่ทำกิจกรรมซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เรียนรู้ถึงพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นการส่งเสริมให้รู้จักสังเกตและบันทึก อันจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมให้เรียนรู้การคิดและมองโลกอย่างมีเหตุมีผล อีกประการหนึ่งสิ่งที่มีคุณ่ามากที่สุดที่ได้จากการดูนกคือการปรดิษฐ์คิดค้น นวัตกรรมใหม่ในการสังเกตุและบันทึกพฤติกรรมของสัตว์ปีกที่เราศึกษา การประดิษฐ์เลนส์และเทคนิคการถ่ายภาพใหม่ๆ การคิดค้นวิธีการบันทึกเสียงร้องของนกที่มีประสิทธิภาพและราคาประหยัด สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่มีเสน่ห์ของวงการดูนกที่มีคุณค่าสามารถนำมาประยุกต์ผลิตเป็นสินค้าใหม่ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
โดยสรุปแล้วการส่งเสริมการดูนกนั้นไม่ได้ให้ประโยชน์แต่เพียงให้ความเพลิดเพลินใจเท่านั้น แต่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในพื้นฐานด้านต่างๆเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และมีคุณค่าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
คลิปตัวอย่างการดูนก
อดิศร สุนทรารักษ์
(นักพัฒนาชนบทภูเขา ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในป่าแห่งหนึ่ง)
