ยุคนี้คุณภาพของเด็กไทยสำคัญกว่าการเพิ่มจำนวน

871
เมื่อหนึ่งครอบครัวมีลูกแค่คนเดียว

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

อัตราเจริญพันธ์(หรือ Fertility rate)ของประเทศไทยเท่ากับ 6.5  แปลความง่ายๆว่า หญิงไทยให้กำเนิดลูกเป็นจำนวนโดยเฉลี่ยเท่ากับ 6.5 คน

โอ้โห…..คงเป็นเรื่องที่น่าตกใจที่พบว่าคนในอดีตมีลูกกันเยอะขนาดนั้น เพราะในยุคสมัยนี้หาใครที่มีลูกเกินสองคนยากมากแต่นั่นคือประเทศไทยเมื่อ 60 ปีก่อน หรือในปี พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960)

ในยุคสมัยนั้นตระหนักว่าอัตราเจริญพันธ์ที่มากขนาดนี้เป็นผลเสียต่อความกินดีอยู่ดีของคนไทย เมื่อครัวเรือนไทยมีลูกหลานจำนวนมาก ย่อมต้องมีภาระค่าใช้จ่ายมีสูงขึ้นตามจำนวนสมาชิกในครัวเรือน ดังนั้นจึงได้เกิดการรณรงค์สร้างกระแสคุมกำเนิดประชากร

ครอบครัวใหญ่ในอดีตของไทย

ในสมัยนั้นจึงเกิดคำขวัญว่า “ลูกมากจะยากนาน” เพื่อเตือนสติหนุ่มสาวในวัยเจริญพันธ์ให้รู้จักวางแผนครอบครัว และควบคุมจำนวนทายาท โดยรณรงค์ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ การแจกถุงยางอนามัย ให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิด รวมไปถึงบริการทำหมันอีกด้วย

แต่  แต่   แต่  !!!!!  ปัจจุบันล่ะ

กราฟแสดงอัตราการเกิดที่ลดลงของประเทศไทย

จากรูปกราฟที่แสดงประกอบนี้จะเห็นได้ว่าอัตราเจริญพันธ์ของประเทศไทย ลดลงอย่างต่อเนื่อง หากแต่ปรากฎการณ์นี้มิใช่เป็นเพราะการรณรงค์คุมกำเนิดประชากร แต่กลับเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ กล่าวคือการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกัน ที่ส่งผลให้รายได้ของคนไทยเติบโตต่อเนื่อง และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนคนไทยโดยถ้วนหน้า

ยังไง  ยังไง  ยังไง ???

พัฒนาการที่ก่อเกิดควบคู่กันกับเศรษฐกิจที่เติบโตคือ สตรีมีโอกาสเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามากขึ้นกว่าแต่ก่อน และวุฒิการศึกษานี้เองที่ช่วยให้สตรีได้มีโอกาสเท่าเทียมกับเพศชายในตลาดแรงงาน มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว รวมถึงมีตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงอย่างทัดเทียมกันในแทบทุกองค์กรอีกด้วย

โอกาสทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปนี้ทำให้ต้นทุนการมีลูกของหญิงวัยเจริญพันธ์เพิ่มสูงขึ้นมาก และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเจริญพันธ์ของประเทศไทยในทุกวันนี้เหลือเพียง 1.5

หญิงไทยในวันนี้นั้นหากได้ลงทุนในการศึกษาเกินกว่าระดับปริญญาตรีแล้ว คงไม่ต้องการให้ความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานสะดุดลงเพราะต้องออกจากตลาดแรงงานไปเลี้ยงลูกคนที่สองหรือคนที่สาม ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะมีลูกเพียงคนเดียว และทุ่มทรัพยากรที่มีพัฒนาให้ลูกคนเดียวนั้นมีคุณภาพที่ดีที่สุด

ความเหมาะสมของปัจเจกอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไปสำหรับสังคมโดยรวม เพราะหากพิจารณาถึงแนวโน้มจำนวนประชากรของประเทศ จะเห็นได้ว่า ประชากรไทยจะค่อยๆลดน้อยลงจากเดิม เพราะพ่อและแม่ในวันนี้ได้ผลิตทายาทมาเพียง 1.5 คน ดังนั้นในระยะยาวจำนวนคนจะหายไปมากกว่าจำนวนที่เกิดมาทดแทน

การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนที่มุ่งเน้นคุณภาพ

วันนี้เราจึงได้เห็นนโยบายมารดาประชารัฐที่สร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอัตราเจริญพันธ์ของประเทศ แม้ว่าผลของนโยบายดังกล่าวยังไม่ประจักษ์ให้เห็น แต่เชื่อว่าคนที่กำลังจะเป็นพ่อแม่คน คงเห็นคล้ายๆกันว่า  “คุณภาพ” หรือ “ศักยภาพ” ของลูกนั้น มีความสำคัญมากกว่า “จำนวน” ลูก

บทความดีๆจาก Night Monkey

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here